ลุ้นระทึก...ช่วงโควิด."ล้งลำไย"

ลุ้นระทึก…ช่วงโควิด.”ล้งลำไย” จันทบุรี จะอยู่หรือไป ถ้าแรงงานเขมรเกือบ 4 หมื่นคน ไม่ผ่านการพิจารณา

ลุ้นระทึก…ช่วงโควิด.”ล้งลำไย “ จันทบุรี จะอยู่หรือไป ถ้าแรงงานเขมรเกือบ 4 หมื่นคน ไม่ผ่านการพิจารณา

ช่วงเชื้อไวรัสโควิด-19 กำลังแพร่ระบาด จึงมิอาจจะคาดเดาได้ว่ารัฐบาลจะห่วงรายได้ บางส่วนของภาคเกษตร หรือห่วงความมั่นคงของประเทศ   ชาวจังหวัดจันทบุรี คงต้องดิ้นกันสุดฤทธิ์  มีกำลังภายในก็ต้องเอาออกมาใช้กันให้หมด เพื่อนำแรงงานต่างด้าว จากประเทศกัมพูชา เข้ามาทำงานภาคเกษตร เก็บผลผลิตลำไยนอกฤดูกาล  คาดว่าปีนี้น่าจะส่งขายต่างประเทศได้ประมาณ 15,000 ล้านบาท

ดร.รัฐวิทย์  ตั้งเกียรติพชร  หรือ อิสิวุฒิ  นายกสมาคมการค้าและการท่องเที่ยวชายแดนไทย-กัมพูชา จันทบุรีได้เสนอประเด็นการแก้ไขปัญหาการใช้แรงงานต่างด้าว ชาวกัมพูชา อันเนื่องจากสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัส โควิด19 ส่งผลการขาดแคลนแรงงานภาคการเกษตร และส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมของจังหวัดจันทบุรี โดยเฉพาะช่วงเดือน สิงหาคม 2563 เป็นต้นไป ให้กับ นาย อลงกรณ์ แอคะรัจน์  รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี รักษาราชการแทนผู้ว่าฯ

ดร.รัฐวิทย์  ตั้งเกียรติพชร 

ดร.รัฐวิทย์  ให้เหตุผลว่า อำเภอโป่งน้ำร้อน และอำเภอสอยดาว เริ่มเก็บเกี่ยวผลผลิตของลำไย จำเป็นต้องใช้แรงงานเป็นจำนวนมาก ซึ่งทางสมาคมฯ ได้นำปัญหานี้เสนอให้ผู้บริหารระดับสูงรับทราบมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะต้องหาแนวทางร่วมกับภาครัฐ  ภาคเอกชน ฝ่ายปกครอง ฝ่ายความมั่นคง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และสาธารณสุขจังหวัดจันทบุรี เพื่อหาแนวทางที่จะนำแรงงานเข้ามา  ภายใต้มาตรการควบคุมโรคของกระทรวงสาธารณสุข

นาย อลงกรณ์ แอคะรัจน์  รองผวจ.จันทบุรี  รักษาราชการแทน ผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานการประชุมเพื่อแก้ปัญหาการนำแรงงานชาวกัมพูชาเข้ามาเพื่อแก้ปัญหา สรุปได้ว่าความต้องการแรงงานชาวกัมพูชามี ๓ กลุ่ม คือกลุ่มที่ทำงานประจำในล้ง ๔,๐๐๐ คน  .กลุ่มแรงงานเก็บลำไย ๒๐,๐๐๐ คน  .กลุ่มที่ทำงานในสวน ๑๐,๐๐๐ คน รวม 34,000 คน  นี่คือตัวเลขที่เสนอความต้องการในช่วงผ่าวิกฤติโควิด-19 และต้องผ่านมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด

นาย อลงกรณ์ แอคะรัจน์  รองผวจ.จันทบุรี 

การนำแรงงานต่างด้าวจำนวนมาก เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรไทย  ไม่ใช่เรื่องยาก หรือง่าย จะต้องผ่านการกลั่นกรองของกระทรวงสาธารณสุข ในการใช้มาตรการต่าง ๆ ที่ถูกกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด ทางจังหวัดจันทบุรี จะต้อง จัดทำ โมเดลการตรวจหาโรคติดเชื้อไวรัสโควิด 19  สาธารณสุข กำหนดมาตรการป้องกัน ตรวจสอบ คัดกรอง ตรวจหาเชื้อโควิด และความพร้อมสถานที่กักตัว ๑๔ วัน

ต้องวัดใจ  นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คนใหม่ ว่าจะตัดสินใจอย่างไร  ถ้าปล่อยให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ไม่ผ่านกระบวนการคัดกรอง ก็อาจเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด รอบ 2 หรือถ้าให้เข้ามาตามช่องทางที่ถูกกฎหมาย จะไว้ใจได้หรือไม่ว่า เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรอบครอบ ไม่ปล่อยปะละเลย  สุดท้ายถ้าเกิดการแพร่ระบาด จะแก้ไขกันอย่างไร  หน่วยงานไหนจะรับผิดชอบ

แล้ว นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข จะตัดสินใจอย่างไรกับปัญหาการป้องปราม และป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด 19 ในครั้งนี้  ถ้าทุกฝ่ายมีความเห็นเดียวกัน ในการเยียวยา แก้ไข แรงงานขาดแคลน ให้ล้งสวนลำไย จ.จันทบุรี   ตามข้อเสนอให้อยู่ใน ความเหมาะสมและปลอดภัยอย่างที่สุด โดยจังหวัดจันทบุรีจะทำหนังสือขอเปิดจุดที่ “ด่านถาวรบ้านแหลม” ไปที่ส่วนกลางพิจารณา

ปัญหาที่อาจหาข้อยุติไม่ได้ ต่อเมื่อ ผู้ประกอบการ ล้งลำไย ต้องรับผิดชอบในเรื่องค่าใช้จ่าย ในการตรวจเชื้อไวรัสโควิด คนละ 13,000 -19,000 บาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก หรืออาจจะต้องผลักภาระไปยังแรงงาน ถ้าใครจะเข้ามาทำงานก็ต้องเสียค่าตรวจเชื้อเอง โดยเจ้าของล้งลำไย เป็นผู้ออกทุนให้ก่อน แล้ว หักเงินรายได้  ช่วงระยะเวลาอันสั้นในการเก็บลำไย คงไม่คุ้มทุนด้วยกันทั้งสองฝ่าย

ต้องจับตามองกันต่อไปว่า ปัญหานี้จะจบด้วยวิธีใด ภาครัฐ และหน่วยงานความมั่นคง ต้องเข้มงวดกวดขันให้ในเรื่องความเคลื่อนไหวการนำเข้าแรงงาน  และแรงงานต่างด้าวหนีเข้ามาในราชอาณาจักรไทย โดยผ่านช่องทางพิเศษตามแนวชายแดน  ความเสี่ยงการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด รอบ 2 คงเกิดขึ้นแน่นอน  ลุ้นกันต่อไปว่าผลจะออกมาประการใด ถึงอย่างไรก็ขอเป็นกำลังใจให้ ชาวจังหวัดจันทบุรี ให้ผ่านพ้นวิกฤตินี้ไปให้ได้ ด้วยฝีมือของ  ดร.รัฐวิทย์  ตั้งเกียรติพชร  หรือ อิสิวุฒิ  และรองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี

   “มังกร   บูรพา “

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม