นิว นอร์มอล

นิว นอร์มอล ตามวิถีชุมชนอาข่ารุ่นใหม่…ที่ดอยช้าง

นิว นอร์มอล ตามวิถีชุมชนอาข่ารุ่นใหม่…ที่ดอยช้าง

 มุมหนึ่งของโลก…บนดอยช้าง  ต.วาวี อ.แม่สรวย จ.เชียงราย สูง 1,800 ม.เหนือระดับน้ำ ทะเล ตามแนวเทือกเขาผีปันน้ำ 

  ที่นั่น…คือถิ่นอาศัยกลุ่มชาติพันธุ์ จากมณฑลยูนนาน จีนตอนใต้ มาตั้งแต่ปี 2454 พอจีนปฏิวัติ…ชนเผ่าเหล่านี้ก็ทิ้งแผ่นดินไปตั้งหลักที่ตะเข็บชายแดนพม่า แต่กลับถูกเจ้าถิ่นขับไล่ให้ต้องเคลื่อนย้ายสู่ไทยด้านแม่ฮ่องสอน กระจายถึงเชียงใหม่ และดอยช้างเชียงราย  

 ม้งเป็นชนกลุ่มแรกที่เดินทางมาถึง…ปี 2458 ลีซอตามมา ไม่นาน…อาข่า(อีก้อ) มาสมทบ ปี 2492 เหมา เจ๋อ ตุง นำจีนสู่ระบบคอมมูน ทิ้งกองพล 93 ให้พลัดถิ่นลี้ภัยอยู่พม่า ก่อนถูกขับออกมาอาศัยบ้านเลาลีดอยช้าง ทำไร่ปลูกพืชเมืองหนาวยังชีพ มีไต้หวันหนุนหลังอยู่ห่างๆ ส่วนชนเผ่าทั้ง 3 คงถางและเผาป่าเปิดหน้าดิน เพื่อทำไร่เลื่อนลอย

นักรบพลัดถิ่น…ดูจะมีชีวิตดีกว่ากลุ่มอื่น คือมีเงินทุนสร้างรีสอร์ทรับคนมาเที่ยว แม้ถนน ขึ้นดอยช่วงนั้นจะทุรกันดาร ทั้งทางขึ้นบ้านแม่ห้วยส้าน อ.แม่ลาว และบ้านตีนดอย อ.แม่สรวย

แต่พอส้มสีทองเมืองน่าน เกิดกระแสในตลาดเชียงใหม่ เชียงราย พวกเขาจึงหันมาลงมือปลูกส้มแทน ทำท่าว่าจะดี…ทว่า โชคร้าย ไร่ขั้นบันไดเป็นปัญหาต่อการเก็บผลที่เสียดสีกันจนผิวช้ำ…ราคาพาลไม่สู้ดี บวกต้นทุนการขนส่งสูงกว่าตลาด…ไม่พ้นต้องปิดจ๊อบไปในที่สุด!

ปี 2512  ฟ้าบนดอยสดใส…เมื่อพ่อหลวง ร.๙ ทรงส่งเสริมการปลูกพืชเศรษฐกิจเมืองหนาว  กับพระราชทานพันธุ์กาแฟอราบิก้า ให้คนบนดอยทดลองปลูกกลางอุณหภูมิ 18 องศาฯ นัยว่า…เป็นกุศโลบายให้ชาวเขาเลิกปลูกพืชต้องห้าม…และทำลายป่า 

ชีวิตเกษตรกร…โดยเฉพาะเผ่าอาข่า เริ่มลืมตาอ้าปากจากผลผลิตกาแฟ บนพื้นที่ปลูก 30,000 ไร่ ที่นำมาเป็นสินค้าจำหน่ายในชุมชนกับส่งออก ทำรายได้ปีหนึ่งมูลค่ามหาศาล ปี 2558  EU ยังประกาศขึ้นทะเบียนรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ ให้อีกต่างหาก 

“อะผู่” ฐิณัฎฐา นภาจรี สาวอาข่าวัย 30 ปี เล่าว่า ชุมชนนี้มี 1,000 ครัวเรือน  70% เป็นอาข่า 20% คือจีนฮ่อ 10% เป็นลีซอ ทำไร่กาแฟผสมผสานมะคาเดเมีย บ้วย ท้อ พลับ และพลัม  “มีโรงงานคั่ว 10 โรง เริ่มเก็บเมล็ดพันธุ์ตุลาคมนาน 6 เดือน  แบรนด์ที่คนรู้จักกันดีคือ Doi Chaang .ให้สังเกตใช้อักษร aa ส่วนของอะผู่แบรนด์ Doi Chang Coffee Farm มี a ตัวเดียว”

 เธอเผย…ปู่ปลูกไว้เมื่อ 30 ปีก่อน แล้วรุ่นพ่อมาทำโรงคั่วแปรรูป ต่อมารุ่นหลานทำตลาดต่อยอด เคยไปศึกษาตลาดกาแฟแนวใหม่ ที่ออสเตรเลีย 2 ปี ก่อนกลับมาเติมเต็มธุรกิจกาแฟ ซึ่งมีสมาชิกอาข่า 65 ครัวเรือน เป็นพันธมิตรคอยส่งเมล็ดพันธุ์ป้อนโรงงานทุกวัน

 “นอกจากทำกาแฟผงสำเร็จ เรายังเปิดคาเฟ่เรือนไม้อยู่ริมทางสายแม่สรวย – บ้านดอยช้าง รับนักท่องเที่ยวกลุ่มหนุ่มสาว ที่นิยมมาหาลุคใหม่บนนี้”  อะผู่บอก “พวกเขาเรียกเรือนกาแฟเราว่า…คาเฟ่ห้อยขา” พูดแกมขำ “เพราะบรรยากาศภายในมีมุมนั่งจิบกาแฟชิลๆ กับมุมระเบียงนั่งห้อยขา ชมวิวพาโนรามาดอยช้างสุดลูกตา…เป็นโลกส่วนตัว”

ทุกวันนี้…เฉพาะบ้านดอยช้างมีเรือนกาแฟอาข่า 10 แห่ง หนึ่งในนั้นชื่อ “กาแฟพอใจ” เป็นธุรกิจสตาร์ทอัพอินดี้ ของเด็กหนุ่มอาข่าที่นิยมใช้ชีวิตแบบไลฟ์สไตล์  ไม่พึ่งระบบโรงงาน รักที่จะปลูกกาแฟเอง เก็บเมล็ดพันธุ์และคั่วแปรรูปเองตามวิธีโบราณ จากนั้นนำมาชงให้นักท่องเที่ยวคอกาแฟดื่ม เป็นเมนูไร้สูตรตายตัวแน่นอน…เพราะชงด้วยอารมณ์ตามใจฉัน

“วันๆ ก็เห็นคนนัดหมาย “คู่จิ้น”มานั่งดื่มคุยกัน ไม่มีใครปริปากบ่นให้ได้ยิน” อะผู่ยืนยัน

เส้นทางธุรกิจชุมชนอาข่าบ้านนี้…เริ่มไปได้สวย ด้วยผลผลิตจากแปลงกาแฟ สู่รูปรอย “ชุมชนปกติรูปแบบใหม่” 

หรือ “ชุมชนปกติที่ไม่ปกติ” ตามศัพท์นิยมปัจจุบัน “New Normal” โดยการนำสิ่งที่ท้อง ถิ่นมี มาปรุงแต่งสีสันให้ดูแปลกใหม่กว่าเก่า

ในมิติ “ท่องเที่ยววิถีชุมชน ( Community Based Tourism – CBT )” ซึ่งกำลังนิยมกันในหมู่คน GEN X – Y  และเบบี้บูมเมอร์…ที่ชอบสะสมประสบการณ์ยันบั้นปลายชีวิต

ถ้าจำกันได้…โหมดนี้ไม่ใช่แคมเปญชวนเที่ยวเพื่อความ “เท่ – เก๋ไก๋” หากแต่เป็นการนำตำนานอาข่ามาบอกเล่า ผนวกวิถีเกษตรบนดอยสูง มาเสนอขายท่องเที่ยวให้ดูน่าสนใจ ก่อให้เกิดรายได้สู่ท้องถิ่น…โดยไม่ต้องดึงเอาคนขนสินค้าจากพื้นที่ ไปวางขายในซุ้มหน้าห้องสุขา ตามสถานีบริการน้ำมันทั่วประเทศ…ที่ล้มเหลวอย่างไม่เป็นท่ามาแล้ว!?

อย่างไรก็ตาม…ปัจจุบันบรรยากาศท่องเที่ยวชุมชนบ้านดอยช้าง หมู่ 3 ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ทวีความคึกคักขึ้นจากเส้นทางทัวร์สายใหม่ในสายตานักท่องเที่ยวทั่วไป ที่เริ่มรับรู้ข้อมูลข่าว สารการปรับเปลี่ยนวิถีชุมชนจากภาพเดิมๆ…เป็นชุมชนปกติรูปแบบใหม่ มีสีสันเพิ่มขึ้น

โดยเฉพาะกลุ่ม Nich Market ที่ให้ความสนใจเฉพาะกับพฤติกรรมมนุษย์บนดอยแห่งนี้  พวกเขายอมรับ…ชุมชนดังกล่าว มีพลังกิมมิคด้านท่องเที่ยวสูง สามารถผลักดันให้เติบ โตได้อย่างมีคุณค่า และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากรพื้นที่มั่นคงยิ่งขึ้น 

เหมือนหลายประเทศ…นิยมชูชุมชนที่มีลักษณะเด่น ให้เป็นสินค้าดึงคนไปเที่ยว  และประสบความสำเร็จมาแล้วมากมาย ทั้งซีกโลกฝั่งตะวันตกและตะวันออก  

บ้านเราเคยปลุกปั้นชุมชนบ้านบ่อสร้าง  อ.สันกำแพง จ.เชียงใหม่ แหล่งผลิต “จ้อง(ร่ม)”กระดาษสา ให้ทัวร์ไปแอ่วไปเยือนโด่งดังไปทั่วโลก

อีกแห่ง…ชุมชนยิปซีทะเลเกาะปันหยี ได้รับแรงส่งเสริมให้ขึ้นชั้นแหล่งท่องเที่ยวโครง ข่ายเจมส์บอนด์ ไอส์แลนด์ (เขาตะปู) อยู่คู่อ่าวพังงามาจนวันนี้

บ้านดอยช้าง…ไม่ต้องไปไกลขนาดนั้น เพียงรู้รักษาให้สภาพแวดล้อมยั่งยืน…แค่นั้นพอแล้ว!  

ท่องเที่ยวชุมชน…คือหนึ่งในเป้าหมาย ที่ถูกกำหนดเป็นตัวสินค้าท่องเที่ยวมานาน มหาดไทยระบุเมืองไทยมีชุมชนอยู่ตามหมู่บ้าน 75,000 แห่งทั่วประเทศ…แต่ได้รับการพัฒนาและส่งเสริมเป็นสถานที่น่าท่องเที่ยว…แค่หยิบมือเดียว!

ส่วนใหญ่จะเน้นวิถีไทยเป็นจุดขาย  เช่น สังคมเกษตรกรรมทำไร่ทำสวน ทำประมงริม น้ำลำคลองและขอบทะเล แหล่งผลิตงานศิลปหัตถกรรมจักสาน ถักทอ วัฒนธรรมการแสดงพื้นบ้าน ตลอดจนถิ่นกำเนิดอาหารไทยคาวหวาน

 ส่วนบ้านดอยช้าง…จัดอยู่ในประเภทชุมชนอัตลักษณ์วิถีคนบนดอย ใช้ชีวิตอยู่กลางอุณห ภูมิอบอุ่นถึงหนาวเย็น และยึดมั่นจารีตประเพณีเผ่าพันธุ์อย่างเสมอต้นเสมอปลาย 

 ดูตัวอย่าง…อะผู่เติบโตยุคสังคมดิจิตอล…แต่ถึงเวลาต้องแสดงตัวตนตามวิถีชนเผ่า  เธอก็รักจะสืบสานวัฒนธรรมการแต่งกายในแบบฉบับอาข่า เพื่อร่วมพิธีกรรมสำคัญทุกครั้ง

 อีกทั้ง…การดำรงชีวิตประจำวัน ก็เป็นไปตามวิถีเกษตรที่สูง คือออกไร่แต่ไก่โห่ไปเก็บเมล็ดพันธุ์กาแฟป้อนโรงงาน..ซึ่งพ้องต้องกันกับฤดูกาลท่องเที่ยว ที่เปิดโอกาสให้นักท่อง เที่ยวผสมโรง ไปทำกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism)

 ด้วยการมีส่วนร่วมเก็บเมล็ดพันธุ์กาแฟกับอาข่า พร้อมเรียนรู้กระบวนการผลิตกาแฟในโรงคั่ว แล้วนั่งจิบกาแฟผลผลิตจากดอยช้าง พลางชมฉากทะเลภูเขาตรงเรือนคาเฟ่ห้อยขา  ที่มีการบริหารจัดการพื้นที่ ทิ้งระยะห่างทางสังคม “Social Distancing”  2 เมตร  

 นอกจากนั้น…ช่วยเพิ่มมูลค่าท่องเที่ยวให้ได้จับจ่ายผลิตภัณฑ์ชุมชน อาทิ ผลิตภัณฑ์กา แฟผงสำเร็จพร้อมชงดื่ม และสบู่หอมผสมกลิ่นกาแฟ ภายใต้แบรนด์…ดอยช้าง คอฟฟี่ ฟาร์ม

 ด้านการเดินทาง “ไหม่ลี่” ณฐชานันท์ น้องสาวอะผู่บอก… “แต่ก่อนลำบากมาก เราเหมือนถูกตัดขาดจากโลกภายนอก เดี๋ยวนี้สะดวก…มีถนนจากบ้านแม่ห้วยส้าน อ.แม่ลาว 15 กม.บ้านตีนดอย อ.แม่สรวย 28 กม.หรือเขื่อนแม่สรวย 30 กม.”

ที่พักมีรีสอร์ท 5 แห่ง 100 ห้อง…จำกัดแค่นี้!  ไม่มีลานกางเต้นท์ เพราะลำพังพื้นที่ราบทำลานตากกาแฟ ก็มีไม่เพียงพออยู่แล้ว…จึงต้องขอสงวนสิทธิ์เรื่องนี้! ถือเป็นการสกัดจำนวนนักท่องเที่ยว ไม่ให้ขึ้นไปกระจุกตัว…ได้ดีทีเดียวเชียวแหละ!

บริสุทธิ์ ประสพทรัพย์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ

ข่าวยอดนิยม